ข้อมูลจังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งข้อมูล : งานศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ

 

ข้อมูลจังหวัดอุบลราชธานี

 คำขวัญ อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่นำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทย ทั้งยังเป็นตำบลที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศ ที่เส้นแวง 105 องศาตะวันออก โดยเป็นจังหวัดแรกที่ได้เห็นดวงอาทิตย์ก่อนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาว นานมากว่า 200 ปี มีพื้นที่กว้างใหญ่ ภายหลังถูกแบ่งออกเป็นจังหวัดใหม่คือจังหวัดยโสธรในปี พ.ศ. 2515 และจังหวัดอำนาจเจริญในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งถ้ารวมพื้นที่อีกสองจังหวัดที่แยกออกไป จังหวัดอุบลราชธานีจะมีพื้นที่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ต้นไม้ประจำจังหวัด: ยางนา (Dipterocarpus alatus)

คำขวัญประจำจังหวัด: อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่นำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล

ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกบัว


โลโก้จังหวัดอุบลราชธานี

 

อาณาเขต

    * ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    * ทิศตะวันออก ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยพรมแดนบางช่วงใช้แม่น้ำโขงเป็นตัวกำหนด

    * ทิศใต้ ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา

    * ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธร

 

แนวพรมแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา รวมความยาวประมาณ 428 กิโลเมตร

    * ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชาชนลาว 361 กิโลเมตร (จากอำเภอเขมราฐถึงอำเภอน้ำยืน ติดต่อกับแขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาสัก)

    * ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา 67 กิโลเมตร (อำเภอน้ำยืน ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา)

ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี

    * พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี

    * ประวัติพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)เป็นบุตรของพระเจ้าตาและนางบุศดี เกิดเมื่อปี พ.ศ 2252 ที่นครเวียงจันทร์ เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ยธิดาอุปราช (ธรรมเทโว) อนุชา ของพระเจ้าองค์หลวง(ไชยกุมาร) เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระประทุมสุรราช เมื่อปี พ.ศ. 2323 อันเป็นตำแหน่งนายกกองใหญ่คุมเลก (ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ ปี พ.ศ. 2329 ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ตำบล ห้วยแจระแม โดยพระบรมราชาอนุญาตในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อ เมืองนี้ว่า "เมืองอุบล" จากการร่วมปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วในปี พ.ศ. 2334 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ และยกฐานะเมืองอุบลเป็น “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช" เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1151 ตรงกับปี พ.ศ. 2335

 

พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ได้สร้างวัดหลวงเป็นวัดคู่เมืองขึ้นที่ริมฝั่ง แม่น้ำมูล ซึ่งถือเป็นวัดแรกของเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนนี้ พ.ศ. 2338 พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ได้ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ จุลศักราช1157 รวมอายุได้ 86 ปี อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองอุบลราชธานี 3 ปี

 

ประวัติศาสตร์

 

 อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี

เมื่อปีพุทธศักราช 2228 เกิด วิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ้ง เพราะกลุ่มจีนฮ่อธงขาวยกกำลังปล้น เมืองเจ้านครเชียงรุ้งคือ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี และเจ้าปางคำ ได้อพยพไพร่พลมาขอพึ่งบารมีพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ของเวียงจันท์ จึงโปรดให้นำไพร่พลไปตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน"

 ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้เจ้าปางคำเสกสมรสกับพระราชนัดดาได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอซึ่งมีความสำคัญต่อเมืองอุบลราชธานีอย่างยิ่ง เพราะต่อมา ปีพุทธศักราช 2314 เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างเวียงจันท์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแผ่นดินเวียงจันท์ ขอบุตรธิดาของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ ไปเป็นนางห้ามและนางสนม แต่เจ้าพระตา เจ้าพระวอไม่ให้ เจ้าสิริบุญสาร จึงส่งกองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้ และกองทัพเวียงจันท์ต้องพ่ายกลับไปหลายครั้ง

การรบระหว่างเวียงจันทร์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู ต่อสู้กินเวลายาวนานถึง 3 ปี ไม่มีผลแพ้ชนะกัน เจ้าสิริบุญสารได้ส่งทูตไปขอกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยมีเงื่อนไขเวียงจันทร์ยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า กองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสารรบ เมื่อฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก คะเนคงเหลือกำลังที่จะต้านศึกกองทัพใหญ่กว่าไว้ได้ จึงให้เจ้าคำโส เจ้าคำขุย เจ้าก่ำ เจ้าคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็ก ผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ไว้รอท่า หากแพ้สงครามจะได้อพยพติดตามมาอยู่ด้วย

โดย แรกได้มาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) และการสู้รบในครั้งสุดท้าย เจ้าพระตาถึงแก่ความตายในสนามรบ เจ้าพระวอผู้เป็นบุตรชายคนโต พร้อมด้วยพี่น้องคือ นางอูสา นางสีดา นางแสนสีชาด นางแพงแสน เจ้าคำผง เจ้าทิตพรหม และนางเหมือนตา ได้หลบหนีออกจากเมืองมารับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปตั้งเมืองที่ "ดอนมดแดง" พร้อมขอพึ่งพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง แห่งนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการตั้งเมืองใหม่ จึงให้อัคฮาดหำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีเจ้าพระวอสู้ไม่ได้ และเสียชีวิตในสนามรบ เจ้าคำผงผู้น้องจึงขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม พร้อมมีใบบอกลงไปที่เมืองนครราชสีมา และกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งให้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพมาช่วยเจ้าคำผง ด้านพญาสุโพรู้ข่าวศึกของเจ้ากรุงธนบุรี จึงสั่งถอยทัพกลับเวียงจันท์ แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เดินทัพติดตามทัพเวียงจันทร์ จนสามารถเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พร้อมคุมตัวเจ้าสิริบุญสารไปกรุงธนบุรี ส่วนเจ้าคำผงหลังเสร็จศึกได้กลับไปตั้งเมืองอยู่ที่ดอนมดแดงเหมือนเดิม กระทั่งปีพุทธศักราช 2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เจ้าคำผงจึงอพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนห้วยแจระแม (ปัจจุบัน คือบ้านท่าบ่อ) รอจนน้ำลด แล้วจึงหาทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ที่ที่ตำบลบ้านร้าง เรียกว่า ดงอู่ผึ้งริมฝั่งแม่น้ำมูลอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช 2320 พร้อมกับได้สร้างพระอารามหลวงขึ้นเป็นวัดแรก

ต่อมาปีพุทธศักราช 2322 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี พร้อมให้เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองในราชทินนาม "พระประทุมราชวงศา" เจ้าทิตพรหมเป็นพระอุปฮาด เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร โดยเป็นคณะอาญาสี่ชุดแรกของเมืองอุบลราชธานี จนถึงกาลเปลี่ยนแผ่นดินปีพุทธศักราช 2334 สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องพระประทุมราชวงศาได้ยกกำลังไปรบ สามารถจับอ้ายเชียงแก้วได้ และทำการประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ

ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช แต่งตั้งให้พระประทุมราชวงศาเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าครองเมือง "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช" พระราชทานพระสุพรรณบัตร และเครื่องยศเจ้าเมืองประเทศราช พร้อมทำพิธีสบถสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1154 ปีชวด จัตวาศก ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2335 โดยเป็นเจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานี ถึงปี 2338 พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ทิตพรหม) น้อง ชายพระประทุม จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนต่อมา รวมมีเจ้าเมืองอุบลราชธานี ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งทั้งสิ้น 4 ท่าน

ภายหลังการก่อตั้งเมืองอุบลฯ แล้ว ก็ได้มีการตั้งเมืองสำคัญในเขตปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นอีกหลายเมือง เช่น ใน พ.ศ. 2357 โปรดฯให้ตั้งบ้านโคกพเนียง เป็นเมืองเขมราฐธานี

ปี พ.ศ. 2366 ยกบ้านนาก่อขึ้นเป็นเมืองโขงเจียง (โขงเจียม) โดยขึ้นกับนครจำปาศักดิ์

ปี พ.ศ. 2388 ในรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านช่องนางให้เป็นเมืองเสนางคนิคม ยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองเดชอุดม ให้หลวงอภัยเป็นหลวงยกบัตรหลวงมหาดไทยเป็นหลวงปลัด ตั้งหลวงธิเบศร์เป็นพระศรีสุระ เป็นเจ้าเมือง รักษาราชการแขวงเมืองเดชอุดม

ปี พ.ศ. 2390 ตั้งบ้านดงกระชุหรือบ้านไร่ ขึ้นเป็นเมืองบัวกัน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นเมืองบัวบุณฑริก หรืออำเภอบุณฑริกในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2401 ตั้งบ้านค้อใหญ่ ให้เป็นเมือง ขอตั้งท้าวจันทบรม เป็นพระอมรอำนาจ เป็นเจ้าเมือง ตั้งท้าวบุตตะเป็นอุปฮาด ให้ท้าวสิงหราชเป็นราชวงศ์ ท้าวสุริโยเป็นราชบุตร รักษาราชการเมืองอำนาจเจริญขึ้นกับเมืองเขมราฐ

ปี พ.ศ. 2406 ในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านกว้างลำชะโด ตำบลปากมูล เป็นเมืองพิบูลมังสาหารและให้ตั้งบ้านสะพือ เป็นเมืองตระการพืชผล ตั้งท้าวสุริยวงษ์ เป็นพระอมรดลใจ เป็นเจ้าเมือง

ปี พ.ศ. 2422 ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านท่ายักขุเป็นเมืองชานุมานมณฑล และให้ตั้งบ้านเผลา (บ้านพระเหลา) เป็นเมืองพนานิคม

ปี พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนากอนจอ เป็นเมืองวารินชำราบ

ปี พ.ศ. 2424 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านจันลานาโดม เป็นเมืองโดมประดิษฐ์ (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่อำเภอน้ำยืน)

ปี พ.ศ. 2425 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านทีเป็นเมืองเกษมสีมา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอม่วงสามสิบนั่นเอง

อุบลราชธานี จึงเป็นเมืองที่มีเขตการปกครองอย่างกว้างขวางที่สุด ทางด้านตะวันออกของภาคอีสานตอนล่างครอบคลุมที่ราบและแม่น้ำสายสำคัญของภาค อีสานถึง 3 สายด้วยกัน คือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง อีกทั้งยังมีแม่น้ำสายเล็กๆที่มีกำเนิดจากเทือกเขาในพื้นที่ เช่น ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ เป็นต้น

แม่น้ำทั้งหลายเหล่านี้ไหลผ่านที่ราบทางด้านเหนือและทางด้านใต้ทอด เป็นแนวยาวสู่ปากแม่น่ำมูลและแม่น้ำโขง ยังความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ในบริเวณแถบนี้ทั้งหมด ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์มาแต่ โบราณกาล

ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกมณฑลทั้งประเทศ จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งแยกออกมาจากมณฑลนครราชสีมาในขณะนั้น ได้กลายเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังจากนั้นจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้ถูกแบ่งออก โดยอำเภอยโสธรและอำเภอใกล้เคียงเป็นจังหวัดยโสธร ในปี พ.ศ. 2515 และต่อมาปี 2536 ได้ถูกแบ่งอีกครั้ง โดยอำเภออำนาจเจริญและอำเภอใกล้เคียงเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่เป็นอันดับ 5 ของไทย และมีประชากรลำดับที่ 3 ของประเทศ

 

ลักษณะภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา

จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของจังหวัดอื่น ๆ

ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม และมักปรากฏเสมอว่าฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ระยะเวลาการทิ้งช่วงมักจะไม่เหมือนกันในแต่ละปี และในช่วงปลายฤดูฝน มักจะมีพายุดีเปรสชั่นฝนตกชุกบางปีอาจมีภาวะ น้ำท่วมแต่ภาวะการณ์ไม่รุนแรงนัก

ฤดูหนาว เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศ ทำให้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภูมิภาคอื่น อุณหภูมิจะเริ่มลดต่ำลงตั้งแต่เดือนตุลาคมและจะสิ้นสุดปลายเดือนมกราคม

ฤดูร้อน ถึงแม้ว่าเคยปรากฏบ่อยครั้งว่าอากาศยังคงหนาวเย็นยืดเยื้อมาจนถึงปลายเดือน กุมภาพันธ์ โดยส่วนใหญ่แล้วอากาศจะ เริ่มอบอ้าว ในเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงประมาณต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งอาจจะมีฝน เริ่มตกอยู่บ้างในปลายเดือนเมษายน แต่ปริมาณน้ำฝนมักจะไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก นอกจากนั้นลักษณะภูมิอากาศทั่วไปคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จะมีอากาศร้อน ในฤดูหนาวค่อนข้างหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 มีฝนตกประมาณ 106 วัน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 1,297.3 มิลลิเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า แอ่งโคราช (Khorat Basin) โดยสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 68 เมตร (227 ฟุต) ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่สูงต่ำ เป็นที่ราบสูงลาดเอียงไปทางตะวันออกมีแม่น้ำโขง เป็นแนวเขตกั้นจังหวัดอุบลราชธานีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งไหลผ่านกลางจังหวัดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม และมีลำน้ำใหญ่ ๆ อีกหลายสาย ได้แก่ ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย และมีภูเขาสลับซับซ้อนหลายแห่งทางบริเวณชายแดนตอนใต้ ที่สำคัญคือ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา

ลักษณะภูมิสัณฐานของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งออกโดยสังเขป ดังนี้

บริเวณที่เป็นสันดินริมน้ำ (river levee) เกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดพามาทับถม สภาพพื้นที่เป็นเนินสันดินริมฝั่งแม่น้ำโขง และบางบริเวณสันดินริมฝั่งลำเซบาย

บริเวณที่เป็นแบบตะพักลำน้ำ (terrace) ที่เกิดจากการกระทำของขบวนการของน้ำนานมาแล้ว ประกอบด้วยบริเวณที่เป็นลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง ลักษณะพื้นที่ที่มีทั้งที่เป็นที่ราบแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงลูกคลื่นลอนชัน จะอยู่ถัดจากบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงขึ้นมา พื้นที่เหล่านี้จะพบในบริเวณทั่วไปของจังหวัด กล่าวคือทางตอนเหนือ ทางตะวันออก และทางใต้ บางแห่งใช้สำหรับทำนาและบางแห่งใช้สำหรับปลูกพืชไร่

บริเวณที่เป็นแอ่ง (depression) หรือที่ลุ่มต่ำหลังลำน้ำ (backswamp) เกิดจากการกระทำของน้ำ พบบางแห่งในบริเวณริมแม่น้ำโขง แม่น้ำชี ลำเซบาย และลำโดมใหญ่ จะมีน้ำแช่ขังนานในฤดูฝน

บริเวณที่เป็นเนินตะกอนรูปพัด (coalescing fans) สภาพพื้นที่แบบนี้มีลักษณะเด่นคือ รูปร่างจะเป็นรูปพัด เกิดจากการที่หินในบริเวณเหล่านั้นถูกทำให้แตกหักสะสมอยู่กับพวกที่มีอนุภาค ละเอียดกว่าเมื่อฝนตกลงมาในปริมาณมาก กำลังของน้ำจะมีมากจนสามารถพัดพาเอาตะกอนเหล่านั้นออกมานอกหุบเขาได้ เมื่อมาถึงนอกหุบเขาหรือเชิงเขา สภาพพื้นที่ก็จะเป็นที่ราบทางน้ำไหลกระจายออกไป ทำให้กำลังของน้ำลดลง ก็จะตกตะกอนในบริเวณน้ำ จะพบอยู่ทางตอนใต้และทางตะวันตกของจังหวัด

บริเวณที่เป็นเนินที่เกิดจากการไหลของธารลาวา (lava flow hill) เป็นเนินเขาที่เกิดจากการไหลของธารลาวา ดินบริเวณนี้จะมีศักยภาพทางการเกษตรสูง ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวผุพังของหินบะซอลต์ บริเวณนี้จะพบอยู่ในอำเภอน้ำยืน

บริเวณที่ลาดเชิงเขา (foot hill slope) เป็นที่ลาดเชิงเขาที่ตะกอนบริเวณที่เกิดจากการกระทำของน้ำนานมาแล้วทับถมกัน บริเวณนี้จะพบอยู่ในอำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอตระการพืชผล

บริเวณที่ลาดเชิงซ้อน (slope complex) ลักษณะเป็นภูเขาหรือทิวเขามีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ จะพบบริเวณทิวเขาพนมดงรักในอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย และอำเภอบุณฑริก อีกแห่งหนึ่งคือ ทิวเขาภูเขาซึ่งจะพบมากในอำเภอโขงเจียมและอำเภอศรีเมืองใหม่

 

ทรัพยากรโดยสังเขป

ทรัพยากร ดิน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีประชากรมาก ดินเป็นทรัพยากรคิด เป็นร้อยละ 86.6 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด หรือประมาณ 10,299,063 ไร่ ด้านป่าไม้มีทั้งป่าเต็งรัง หรือป่าแดงมีอยู่ทั่วไป มีเขตป่าดงดิบในเขตอำเภอน้ำยืน และป่าผสม ส่วนป่าเบญจพรรณมีอยู่ในอำเภอเขมราฐ อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้กระยาเลย ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตระแบก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เคี่ยม ไม้ชุมแพรก ไม้กันเกรา สภาพพื้นที่ป่าไม้จากการสำรวจเมื่อปี 2538 มีเนื้อป่าประมาณ 2,495 ตร.กม. หรือประมาณ 1.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.49 ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งได้ดังนี้ ป่าถาวร ตามมติ ครม.จำนวน 1 ป่า เนื้อที่ 77,312.50 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 46 ป่า เนื้อที่ 3,396,009.163 ไร่ พื้นที่ป่า สปก. จำนวน 40 ป่า เนื้อที่ 1,665,543.30 ไร่ ป่าอนุรักษ์ ตาม มติ ครม. จำนวน 10 ป่า เนื้อที่ 1,439,998.402 ไร่ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย จำนวน 5 ป่า เนื้อที่ 880,220.00 ไร่ สวนป่า จำนวน 15 ป่า เนื้อที่ 20,985.73 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ (รวม จ.อำนาจเจริญ) เนื้อที่ 24,292,656 ไร่

แร่ธาตุ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีแร่อโลหะเพียงชนิดเดียว คือ เกลือหิน ซึ่งเจาะพบแล้ว 2 แห่งคือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอตระการพืชผล นอกจากนี้ มีทรัพยากรแร่ที่อยู่ในรูปของหินชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย

 

หน่วยการปกครอง

จังหวัดอุบลราชธานีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 219 ตำบล 2469 หมู่บ้าน

   1. อำเภอเมืองอุบลราชธานี

   2. อำเภอศรีเมืองใหม่

   3. อำเภอโขงเจียม

   4. อำเภอเขื่องใน

   5. อำเภอเขมราฐ

   7. อำเภอเดชอุดม

   8. อำเภอนาจะหลวย

   9. อำเภอน้ำยืน

  10. อำเภอบุณฑริก

  11. อำเภอตระการพืชผล

  12. อำเภอกุดข้าวปุ้น

  14. อำเภอม่วงสามสิบ

  15. อำเภอวารินชำราบ

  19. อำเภอพิบูลมังสาหาร

  20. อำเภอตาลสุม

  21. อำเภอโพธิ์ไทร

  22. อำเภอสำโรง

  24. อำเภอดอนมดแดง

  25. อำเภอสิรินธร

  26. อำเภอทุ่งศรีอุดม

  29. อำเภอนาเยีย

  30. อำเภอนาตาล

  31. อำเภอเหล่าเสือโก้ก

  32. อำเภอสว่างวีระวงศ์

  33. อำเภอน้ำขุ่น

 

การคมนาคม

รถยนต์

ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ไปสระบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 24 (สายโชคชัย-เดชอุดม) ไปจนถึงอุบลราชธานี หรือใช้ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี

 

รถไฟ

จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ มีรถด่วน และรถเร็ว สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชธานี อีกด้วย

 

รถโดยสารประจำทาง

มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิตใหม่) นอกจากนี้ บริษัทขนส่งยังมีบริการรถโดยสารระหว่างอุบลราชธานีและเมืองปากเซ สปป.ลาวทุกวัน

นอกจากนี้ยังมีรถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เดินรถระหว่างอุบลราชธานีไปถึง ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม ชัยภูมิ สกลนคร ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และภูเก็ต

กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศถึงการเปิดเดินรถสายอุบลราชธานี -เกาะสมุย เพื่อเชื่อมเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคในอนาคต และอีกในอนาคตข้างหน้า กรมการขนส่งทางบกอาจจะได้ออกประกาศถึงการเปิดเดินรถสายสายเหนืออีก 1 เส้นทาง รถสายอุบลราชธานี - แม่สาย (เชียงราย) ขึ้นกับบริษัทนครชัยแอร์ เพื่อเชื่อมเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคในอนาคต

และนอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกกำลังจะเปิดเดินรถสายระหว่างประเทศคือ สายอุบลราชธานี-จำปาสัก อุบลราชธานี-คอนพะเพง และ อุบลราชธานี-เสียมราฐ อีกด้วย

 

เครื่องบิน

มีการบริการด้วยสายการบิน 3 สายการบิน คือ การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ ที่ให้บริการจาก กรุงเทพมหานคร - อุบลราชธานี, ภูเก็ต - อุบลราชธานี และเชียงใหม่ - อุบลราชธานี ซึ่งเดินทางออกจากทั้ง ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต และ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ มายังท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ทุกวัน

 

รถเช่า

บัดเจ็ท รถเช่า สาขาท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี และนอกจากนี้ก็มีการบริการด้วยรถสามล้อ รถสามล้อเครื่อง (รถตุ๊กตุ๊ก) รถแท็กซี่มิเตอร์ และรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ที่ให้การบริการ ณ จุดที่สำคัญ เช่น หน้าโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ หน้าตลาดสดเทศบาล 3 (ตลาดใหญ่) หน้าสถานีรถไฟอุบลราชธานี สถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นต้น

 

รถเมล์หรือรถสองแถวประจำทาง

มีการบริการด้วยรถสองแถวประจำทางที่ให้การบริการในเขตเมืองอุบลราชธานีและเขตวารินชำราบ มีดังต่อไปนี้

    * สายที่ 1 บ้านธาตุ - สามแยกเข้าหมู่บ้านหนองแก

    * สายที่ 2 สถานีรถไฟอุบลราชธานี - โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร

    * สายที่ 3 บ้านก่อ - โรงเรียนเทคโนโลยีและเกษตรกรรมอุบลราชธานี

    * สายที่ 4 เรือนจำกลางอุบลราชธานี - โรงเรียนบ้านกุดลาด (ปัจจุบันยกเลิกเส้นทาง)

    * สายที 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ - การประปา

    * สายที่ 7 ศาลปู่เจ้าคำจันทร์ - วัดพุทธนิคมกิติยาราม

    * สายที่ 8 บ้านปลาดุก - สถานีโทรคมนาคมอุบลราชธานี

    * สายที่ 9 ตลาดสดวารินชำราบ - หาดคูเดื่อ

    * สายที่ 10 ศาลาบ้านดู่ - ศูนย์อพยพ

    * สายที่ 11 บ้านบุ่งกาแซว - บ้านด้ามพร้า

    * สายที่ 12 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - บ้านดง

    * สายที่ 13 วงเวียนบ้านท่าข้องเหล็ก - โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ - ขนส่งอุบลราชธานี (ปัจจุบันยกเลิกเส้นทาง)

    * สายที่ 14 (ขึ้นต้นด้วยอักษร ม.) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี - ขนส่งอุบลราชธานี

 

บุคคลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานีได้ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 200 ปี บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรมสืบทอดมา จนถึงปัจจุบันก็เพราะบุคคลในท้องถิ่นให้ความร่วมมือในการสร้างความเจริญ ให้กับบ้านเมือง ในการพัฒนาในแต่ละด้านนั้นได้มีบุคคลที่มีบทบาทเด่นชัดในด้านนั้น ๆ เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า สั่งสมชื่อเสียงเกียรติคุณให้กับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งควรแก่การภูมิใจและควรค่าแก่การศึกษาผลงานของท่านเพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ให้เจริญรุดหน้าไป และจนได้ชื่อว่าเป็น "ดินแดนแห่งนักปราชญ์" ที่ได้รับการขนานนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีบุคคลสำคัญที่สร้าง คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นจำนวนมาก ดังนี้

 

พระสงฆ์

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

    * พระอริยาจารย์ (สุ้ย)

    * ท่านเทวธมฺมี (ม้าว)

    * พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร)

    * พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

    * สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายกรูปแรกแห่งประเทศไทย ตามประกาศตั้งสังฆนายก ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2485 , ประธานคณะวินัยธร ชั้นฎีกาตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484

    * พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

    * พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

    * พระอาจารย์ขาว อนาลโย

    * พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

 

นักปกครอง

    * พระประทุมวรราชสุริยวงศ์

    * พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

    * ร้อยตรีไมตรี ไนยกูล

    * เรือตรีสุนัย ณ อุบล

    * นายสุพร ศุภสร

    * นายนิธิศักดิ์ ราชพิตร

 

 

นักการเมือง

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

    * ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

    * เลียง ไชยกาล

    * ฟอง สิทธิธรรม

    * อรพินท์ ไชยกาล - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของประเทศไทย

    * ทิม ภูริพัฒน์

    * สุทัศน์ เงินหมื่น

    * เพ็ญพักตร์ ศรีทอง

    * สมบัติ รัตโน

    * พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ - อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

    * วิฑูรย์ นามบุตร - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

    * อิสสระ สมชัย - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

    * วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา

    * สุพล ฟองงาม - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2)

    * สิทธิชัย โควสุรัตน์ - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3)

    * ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ - อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    * พรชัย โควสุรัตน์ - นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี

 

นักสังคมสงเคราะห์

    * หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

    * นายเดช ถิรวัฒน์

    * ท่านผู้หญิงตุ่น โกศัลวิตร

    * นายวิระ รมยะรูป

    * นางอุดม ไทยมงคล

    * นายกมล เจริญศรี

 

นักสาธารณสุข

    * นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว

    * นายแพทย์อุทัย สุดสุข

    * นายแพทย์วิฑูร แสงสิงแก้ว

    * นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์

    * นายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร

 

นักการศึกษา นักศิลปวัฒนธรรม และศิลปิน

    * ดร.ปรีชา พิณทอง

    * นายคำหมา แสงงาม - ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (การปั้นแกะสลัก)พ.ศ. 2529

    * นายบำเพ็ญ ณ อุบล

    * นายสมชัย กตัญญูตานันท์ (ชัย ราชวัตร)

    * นายทอใส ทับถนน - ศิลปินครูพิณเมืองอุบลราชธานี

    * นายทองมาก จันทะลือ (หมอลำถูทา) - ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอุบลราชธานี 1 สมัย

    * หมอลำเคน ดาเหลา (เคนฮุด) - ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2534

    * ฉวีวรรณ ดำเนิน (ได้รับการยกย่องให้เป็น ราชินีหมอลำ) - ศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2536

    * นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย - ศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2540

    * นางคำปุ่น ฟุ้งสุข - หมอลำหญิงอาวุโสชื่อดัง

    * นายทองคำ เพ็งดี (ฉายา นกกาเหว่า) - หมอลำชายชื่อดัง

    * นายสมาน หงษา - หมอลำชื่อดัง คณะเพชรเสียงทอง

    * นายณรงค์ พงษ์ภาพ (นพดล ดวงพร) - คณะเพชรพิณทอง

    * นายมนัส สุขสาย

    * นายสลา คุณวุฒิ - นักแต่งเพลงชื่อดัง

    * นางบานเย็น รากแก่น - หมอลำหญิงชื่อดัง และได้รับการขนานนามว่า "ราชินีหมอลำ"

    * ป.ฉลาดน้อย (ฉลาด ส่งเสริม) - หมอลำชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2548

    * อังคนางค์ คุณไชย - หมอลำชื่อดัง เจ้าของผลงาน เพลงสาวอุบลรอรัก อีสานลำเพลิน และศิลปินพื้นบ้าน สาขา ศิลปะการแสดง

    * ต่าย อรทัย (นางสาวอรทัย ดาบคำ)- นักร้องค่าย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (แกรมมี่โกลด์)

    * เอกพล มนต์ตระการ - นักร้องค่าย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (แกรมมี่โกลด์)

    * เทพพร เพชรอุบล

    * ดอกอ้อ ทุ่งทอง (นางสาวบุปผา บุญมี)- นักร้องค่าย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (แกรมมี่โกลด์)

    * บุญตา เมืองใหม่ - นักร้องค่ายชัวร์ ออดิโอ มีชื่อเสียงจากบทเพลง "คนดีที่อ้ายบ่ฮัก"

    * มด อุบลมณี - นักร้องค่าย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (แกรมมี่โกลด์)

 

นักการเกษตร

    * นายประยงค์ พงศ์มัตสยา

    * นายชารี มาระแสง

    * นายสมร ประทุมชาติ

 

นักกีฬา

    * นายประยูร ถาวรเสถียร

    * นายสุชาติ มุทุกันต์

    * นายศักดา สงวนศักดิ์

    * นายบำเพ็ญ ลัทธิมนต์

    * นายพรชัย ทองบุราณ

 

การศึกษา

โรงเรียน

 

ระดับอาชีวศึกษา

    * วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี

    * วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี

    * วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี

    * วิทยาลัยการสารพัดช่างอุบลราชธานี

    * วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม

    * วิทยาลัยการอาชีพตระการพืชผล

    * วิทยาลัยการอาชีพวารินชำราบ

    * วิทยาลัยการอาชีพเขมราฐ

    * วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาอุบลราชธานี

    * วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    * วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการพิบูลมังสาหาร

 

ระดับอุดมศึกษา

    * มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

    * มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

    * มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์วิทยพัฒนา จังหวัดอุบลราชธานี

    * มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในเขตวัดมหาวนาราม

    * มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาอุบลราชธานี

    * มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์อุบลราชธานี

    * มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์จังหวัดอุบลราชธานี

    * วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์

    * วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

    * สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (สถานีวิจัยภาคสนามอุบลราชธานี)

    * มหาวิทยาลัยราชธานี

    * มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น

    * มหาวิทยาลัยปทุมธานี ศูนย์การศึกษาอุบลราชธานี

    * มหาวิทยาลัยอีสาน ศูนย์เขมราฐ

 

สถานที่ท่องเที่ยว

หอไตรกลางน้ำวัดทุ่งศรีเมือง

ปราสาทบ้านเบ็ญ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

จุดชมวิวอุทยานแห่งชาติผาแต้ม

สามพันโบก

 

สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม

    * หอไตรหนองขุหลุ

    * วัดภูหล่น

    * วัดป่าไทรงาม

    * วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

    * วัดศรีอุบลรัตนาราม

    * พิพิธภัณฑ์บ้านปะอาว

    * วัดป่านานาชาติ

    * วัดหนองป่าพง

    * วัดทุ่งศรีเมือง

    * วัดมหาวนาราม

    * วัดพระธาตุหนองบัว

    * ปราสาทบ้านเบ็ญ

    * พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

    * พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านก้านเหลือง

    * ศูนย์ศิลปาชีพอุบลราชธานี

    * บ้านคำปุน

 

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

 

    * อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ

    * อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

    * อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย

    * แก่งสะพือ

    * ชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธร

    * เขื่อนสิรินธร

    * สามพันโบก

    * แม่น้ำสองสี

    * เขื่อนปากมูล

    * น้ำตกแสงจันทร์ (น้ำตกลงรู )

    * ช่องเม็ก

    * สามเหลี่ยมมรกต

    * หาดคูเดื่อ

 

ประเพณีแห่เทียนพรรษา

 

งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลราชธานี ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนานอีกทั้งยังเป็นต้นตำรับของงานประเพณีแห่เทียน เข้าพรรษาของไทยด้วย ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่รู้จักของนัก ท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา จัดให้มีขึ้นทุกปี

 

จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ความว่า ชาวอุบลราชธานี ได้ทำต้นเทียนประกวดประชันความวิจิตรบรรจงกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 จนเมื่อปี พ.ศ. 2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน

 

ประวัติงานประเพณีแห่เทียนพรรษา

ขบวนแห่เทียนพรรษา

 

ก่อน สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล ชาวอุบลไม่มีการหล่อเทียนแห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชาจำพรรษา ครั้นในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ เป็นผู้สำเร็จราชการที่เมืองอุบล คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่บั้งไฟมีการตีกันในขบวนแห่จนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมเห็นว่าไม่ดี จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟและเปลี่ยนเป็นการแห่เทียนแทน

 

การแห่เทียนแต่เดิมไม่ได้จัดใหญ่โตเช่นปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ตามรอยต่อหากระดาษจังโก (กระดาษสีเงินสีทอง) ตัดเป็นลายฟันปลาปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปิ๊ปน้ำมันก๊าด ฐานของต้นเทียนใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบ หรือทำสูงขึ้นเป้นชั้นๆ ติดกระดาษ เสร็จแล้วมีการแห่นำไปถวายวัด พาหนะที่ใช้นิยใช้เกวียน หรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง การแห่ของชาวบ้านก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน

 

ในระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 2480 การทำต้นเทียนได้พัฒนาขึ้น ถึงขั้นใช้การหล่อออกจากเบ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ เช่น ประจำยาม กระจัง ตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู ฯลฯ แล้วนำไปติดที่ลำต้นเทียน ช่างผู้มีชื่อเสียงในทางนี้คือ นายโพธิ์ ส่งศรี ลายที่พ่อใหญ่โพธิ์ทำขึ้นเป็นลายง่ายๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย ใบเทศ บัวคว่ำบัวหงาย พ่อใหญ่โพธิ์เป็นช่างทำต้นเทียน ให้กับวัดทุ่งศรีเมือง ต่อมา นายสวน คูณผล ได้นำวิธีการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ และประดับฐานต้นเทียนด้วยรูปปั้นสัตว์และลายไม้ฉลุ ทำให้ดูสวยงามมากขึ้น ผลงานทำต้นเทียน ของนายสวน คูณผล จึงมักจะได้รางวัลชนะเลิศอยู่เป็นประจำ

 

ในช่วงปี พ.ศ. 2494 ประชาชนเริ่มให้ความสนใจและเห็นความสำคัญ ในการทำและแห่เทียนพรรษามากขึ้น เมื่อทางจังหวัดได้ส่งเสริมให้งานเข้าพรรษาเป็นงานประเพณีประจำปี แต่ต้นเทียนในขณะนั้นยังมีการจัดทำอยู่เพียง 2 ประเภท คือ ประเภทมัดเทียนรวมกันแล้วติดกระดาษสีและประเภทพิมพ์ลายติดลำต้น

 

ใน พ.ศ. 2495 ได้มีการฟื้นฟูศิลปะการทำต้นเทียน และการแห่เทียนพรรษาของ จังหวัดอุบลราชธานี มีการประกวดเทียนพรรษา 2 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย และประเภท ติดพิมพ์

 

ครั้น พ.ศ. 2497 ช่างฝีมือรุ่นเยาว์ อันได้แก่ นายอารีย์ สินสวัสดิ์ นายประดับ ก้อนแก้ว ได้พัฒนาวิธีทำขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนพลาสเตอร์แกะเป็นแม่พิมพ์ลายต่างๆ แล้วหล่อด้วยเทียนออกมาเป็นดอกๆ ผึ้งที่ใช้หล่อดอกไม้คนละสีกับลำต้น จึงทำให้มองเห็นเป็นส่วนลึกของลายอย่างชัดเจน นายประดับ ก้อนแก้ว ได้ทำต้นเทียนติดพิมพ์ และตกแต่งขบวนต้นเทียนของวัดมหาวนารามได้อย่างสวยงาม จนได้รับรางวัลชนะเลิศ

 

ประมาณปี พ.ศ. 2500 มีการจัดงานกึ่งพุทธกาลทั่วประเทศ งานด้านศาสนาจึงเฟื่องฟูมาก การแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ทั้งด้านการจัดขบวนแห่ และการจัดหาสาวงามสำหรับต้นเทียน

 

พ.ศ. 2502 นายคำหมา แสงงาม ช่างสูงอายุคนหนึ่งได้คิดและแกะสลักต้นเทียนโดยไม่ต้องพิมพ์ดอกมาติด เหมือนเช่นที่ช่างรุ่นก่อนทำมา ทำให้ต้นเทียนแกะสลักที่นายคำหมาทำให้กับบ้านกุดเป่ง อำเภอวารินชำราบ มีความแปลกใหม่สวยงาม ดังนั้น ในปีต่อมา จึงได้มีการเสนอให้จัดประกวดต้นเทียน 3 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก ระยะต่อมา จึงตัดต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลายที่เป็นต้นเทียนแบบเก่า ออกจากการประกวด ช่างแกะสลักต้นเทียนที่มีฝีมือในรุ่นต่อมา ได้แก่ นายอุตส่าห์ จันทรวิจิตร และนายสมัยจันทรวิจิตร ซึ่งเป็นพี่น้องกัน

 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬารมากที่สุดในประเทศไทย มีการประกวดต้นเทียนประเภทต่างๆ ประกวดขบวนแห่ และนางฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนอย่างรัดกุม มีการประชาสัมพันธ์งานกันอย่างกว้างขวางและททท.ได้จัดให้บรรจุลงในปฏิทินการ ท่องเที่ยว ทำให้มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวและชมงานเป็นจำนวนมาก [4]

 

ของดีจังหวัดอุบลราชธานี

 

จังหวัดอุบลราชธานีขึ้นชื่อในเรื่องหัตถกรรม ซึ่งได้แก่ ผ้าทอเมืองอุบล ผ้าฝ้ายทอมือ หมอนขิด ผ้าขาวม้า ผ้าไหม เครื่องทองเหลือง เครื่องจักสานจำพวกกระด้ง กระติ๊บข้าว ข้องใส่ปลา ตะกร้า

 

นอกจากนี้จังหวัดอุบลราชธานียังขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารการกิน ได้แก่ หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน และ เค็มบักนัด (เค็มสับปะรด) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ทำด้วยเนื้อปลาสวายหรือปลาเทโพ หั่นเป็นชิ้นยาวๆ ดองในน้ำเกลือและเนื้อสับปะรดที่ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ บรรจุในขวดแก้ว สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น อาหารประเภทหลน มีจำหน่ายทั่วไปในตัวเมือง

 

ผลิตภัณฑ์ทองเหลืองชุมชนบ้านปะอาว บ้านปะอาวเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ คือ การทำเครื่องทองเหลือง กรรมวิธีการผลิตยังเป็นแบบดั้งเดิม นอกจากนี้แล้ว ในหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองเหลือง และทอผ้าไหมที่สวยงาม เปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

 

ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี

 

จังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงในด้านการทอผ้ามาเป็นเวลา เห้นได้จากวรรณกรรมโบราณอีสานและประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานีได้ปรากฏให้เห็นถึงความประณีตสวย งาม แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้ทอผ้าที่ได้สร้างสรรค์บรรจงด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายวิจิตรจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน "ผ้ากาบบัว" ได้รับการสืบสานเป็นผ้าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นไทย มีการสวมใส่ตั้งแต่ระดับชั้นของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงระดับวัยรุ่น ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย

 

ผ้ากาบบัวในหน้าประวัติศาสตร์

 

ในสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑลลาวกาวและมณฑลอีสานได้นำผ้าทอเมืองอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวายซึ่งปรากฏในหน้าพระราชหัตถเลขา ตอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 114 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความว่า "ถึงสรรพสิทธิ์ ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว ผ้าทอดีมากจากเชียงใหม่ยังสู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้ จุฬาลงกรณ์ ปร."

 

จากการค้นคว้าถึงตำนานผ้าเยียรบับนี้พบว่า เป็นผ้าลายกาบบัวคำ ทอด้วยเทคนิคขิดหรือยกด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) แทรกด้วยไหมมัดหมี่ ใช้เทคนิคด้วยการจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆลงบนผ้า ในเวลาอีก 55 ปีถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมใจกันทอ "ผ้าซื่นไหมเงิน ยกดอกลายพิกุล" ทูลเกล้าถวายเนื่องในพิธีพระราชบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ในรัชกาลปัจจุบันและถัดจากนั้นอีก 5 ปีถัดมาในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมเงิน ที่ชาวอุบลราชธานีทูลเกล้า ฯถวาย และมีเสด็จรับสั่งกับพสกนิกรที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ว่า "ชาวอุบลฯเขาให้ผ้าซื่นเป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯเขาดู" ยังความปีติปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นของชาวอุบลราชธานีเป็นอย่างมาก

 

 

อุบล … ราชธานีแห่งสุนทรี ..การสืบสานผ้าเมืองอุบล …

ผ้าพื้นเมืองอุบล เป็นมรดกวัฒนธรรมไต-ลาวที่มีเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองทั้งลวดลายและวิธีการทอ

 

 

การสืบสานลายผ้า เป็นเอกลักษณ์อย่างเอกแห่งศิลปะของชาวอุบล … ด้วย ผ้าเป็นตัวแทนสื่อความหมายของชีวิตชาวอุบลที่ดำรงคงอยู่ประสมประสานกับ ชนกลุ่มอื่นๆมาเนิ่นนาน จนสามารถสร้างศิลปะการถักทอ อันครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระร่าชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ถึงฝีมือการทอผ้าอันดียิ่งของผ้าเมืองอุบล

 

ลักษณะ ผ้าของเมืองอุบลแตกต่างไปตามกลุ่มคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ลวดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานีแท้ๆ คือ ผ้าแถบอำเภอพนา อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอเมือง นอกจากนั้นยังมีลวดลายอื่นมาแต่งแต้ม เช่น ลวดลายผ้าแบบของชาวภูไทในผ้าแถบอำเภอชานุมาน ลวดลายผ้าแบบจำปาศักดิ์ในผ้าแถบอำเภอพิบูลมังสาหาร ลวดลายผ้าแบบชาวส่วยในผ้าแถบอำเภอวารินชำราบ

 

 

 

ผ้าพื้นเมืองประเภทต่างๆของเมืองอุบลมีหลายแบบ เช่นผ้าซิ่น ..  อาทิ ผ้าซิ่นมุก ผ้าซิ่นไหมเงินไหมดำ ผ้าซิ่นมับไม ผ้าซิ่นทิว .. ผ้าเบี่ยง ผ้าห่ม ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า และตุง (ผ้าที่ทำเป็นธงยาวๆ ใช้ในงานกฐิน)

สกุล ณ อุบล เป็นสกุลที่สืบมาจากเจ้าพระยาปทุมวรราช สุริยวงศ์ (คำผง) ซึ่งเป็นเจ้าเมืององค์แรกของเมืองอุบลราชธานี ( พ.ศ. 2335-2338) และเจ้าธรรมเทโว แห่งนครจำปาศักดิ์ทางฝั่งมารดา สายพระอุปฮาดสุดตา พระอุปฮาดโท ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุล คือ พระยาอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ)

จากเชื้อสายที่สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์ เรือตรี ดร. ดนัย ณ อุบล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ที่สะสมผ้าโบราณของเมืองอุบลและเมืองจำปาศักดิ์ มากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ความสนใจในการสะสมผ้าของท่านเป็นทั้งความเกี่ยวพันโดยตรงทางเชื้อสาย และโดยสภาพแวดล้อมของครอบครัว

“อุบลฯ สมัยก่อนตั้งแต่ผมเป็นเด็กเรียนชั้นประถม จนโตขึ้นมาก็จะเห็นที่บ้านนี้ทอผ้าแล้ว บ้านผมเองในเขตเทศบาลเป็นตระกูลค่อนข้างใหญ่ มีคุณน้า คุณป้า คุณตา แบบครอบครัวไทยโบราณ ผมเห็นพี่ที่เป็นลูกป้า ลูกน้า ทอผ้ามัดหมี่ในบ้านของคุณตา เห็นตั้งแต่นั้นเลย เลยรู้ว่ากรรมวิธีทอผ้าเขาทำกันอย่างไร แต่ผมไม่ได้ทำ เพราะยังเด็ก แต่พวกพี่ๆที่เรียนชั้นมัธยมพอกลับบ้าน เขาก็มัดหมี่ ทอผ้าที่บ้าน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่แรก”

คนอุบลฯ สมัยนั้นแต่งกาย นุ่งผ้ากันอย่างไร … เรือตรี ดร. สุนัยฯ วาดภาพให้เห็นบรรยากาศในครั้งกระโน้นว่า …

“เขา นุ่งผ้ากันโดยเฉพาะไปงานวัด แห่เทียน ไปทำบุญ เขาจะนุ่งผ้าซิ่น ซิ่นหมี่ ซึ่งจะต้องสวยงาม นุ่งอย่างเรียบร้อย ยาวมาเกือบจะถึงน่อง ชายผ้าจะต้องเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันจะถือว่าไม่ใช่กุลสตรี เสื้อที่ใส่จะเป็นคอกระเช้า เป็นระบายมีแขน รัดเอว สำหรับผู้หญิง ส่วนผู้ชายพอถึงสมัยผมนี่นุ่งกางเกงแล้ว แต่ย้อนหลังไปประมาณเกือบ 100 ปี นุ่งโจงกระเบน”

เมืองอุบลฯ ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเมือง พ.ศ. 2325 เป็น เมืองสำคัญชายแดน เขตจำปาศักดิ์ ที่สำนักธนบุรีและรัตนโกสินทร์ให้ความสำคัญหลายด้าน ประกอบกับกลุ่มเจ้านายเองก็ใความสัมพันธ์กันทางเครือญาติกับคนในราชสำนัก จำปาศักดิ์อย่างแน่นแฟ้นโดยการแต่งงาน เจ้าเมืองอุบลฯคนแรกได้เจ้าคำโชน หลานเจ้าครองนครจำปาศักดิ์ มาเป็นชายา และต่อมาก็มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกลุ่มเจ้านายระดับข้าหลวงต่าง พระองค์จากราชสำนักกรุงเทพฯ จึงทำให้คนในกลุ่มเจ้านายเมืองอุบลฯ มีความภูมิใจที่จะรักษาสถานภาพไว้โดยเฉพาะ เพื่อให้มองเห็นได้ถึงความแตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป ซึ่งเห็นได้จากเสื้อผ้า การแต่งกาย

“ผม คิดว่า เมืองอุบลฯเป็นเมืองแห่งเดียวของอีสานที่มีเจ้า แต่คนมักไม่รู้เกี่ยวกับเจ้านายเมืองอุบลฯ คิดว่าพวกอีสานเป็นพวกไม่มีชาติตระกูล เจ้านายของคนอุบลฯ นับเนื่องมาจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอของรัชกาลที่ 5 ท่านไป ว่าราชการที่อุบลฯ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ที่อุบลฯ แล้วท่านไปมีชายาที่นั่น ซึ่งเป็นลูกหลานเจ้าเมืองอุบลฯ สตรีชาวอุบลฯถึงมีเชื้อเจ้า”

ด้วย เหตุนี้ สตรีชาวอุบลฯ จึงมีการแต่งกายที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชนชั้นและฐานะ โดยเฉพาะพวกเจ้านาย และผู้ดีเมืองอุบลฯนั้น จะแต่งกายด้วยผ้าไหม จะไม่นุ่งห่มด้วยผ้าฝ้ายเลย ส่วนคนธรรมดา หรือชนชั้นชาวนา จะนุ่งผ้าไหมเวลาไปทำบุญที่วัด ไปงานต่างๆ และสวมใส่ผ้าฝ้ายในการทำงาน

เรือตรี ดร. สุนัยฯ ได้เล่าถึงวิวัฒนาการ การแต่งกายของสตรีชาวอุบลฯ ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า ผู้หญิงยังไม่มีเสื้อใส่ แต่มีผ้าที่เรียกว่า ผ้าแถบ หรือผ้าเบี่ยง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งรัดอก ปล่อยชายลงมาให้เห็นลายผ้าขิด

“พอมาถึงรัชกาลที่ 5 ผู้หญิงอุบลฯ ก็จะนุ่งซิ่นไหมคำ (ทอง) มีตีน (เชิง) ยาวกรอมเท้า โดยจะเน้นที่ความสวยงามของตีนซิ่น ซึ่งเป็นชิ้นที่ทอมาต่างหาก และนำมาเย็บติดกับตัวซิ่น เป็นผ้าขิต (ส่วนทางเหนือจะใช้ผ้าจก ที่เรียกว่าตีนจก) สวมใส่กับเสื้อทรงแขนหมูแฮมแบบสตรีชาววังที่กรุงเทพฯ ซึ่งนุ่งโจงกระเบน”

สำหรับการแต่งกายของผู้ชายในเมืองอุบลฯ เรือตรี ดร. สุนัยฯ ได้อธิบายวิวัฒนาการในเรื่องนี้ไว้ว่า ..

“ผู้ชายก่อนรัชกาลที่ 4 ประมาณปลายรัชกาลที่ 3 จะนุ่งผ้าปูม  ซึ่งในปัจจุบันคนมีฐานะเอามาตัดเป็นชุด เพราะยาวถึง 4 เมตร ผ้าปูมนั้นที่แท้คือผ้าที่ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เป็นผ้าสำหรับพวกขุนนาง เจ้าขุนมูลนายนุ่ง ผมไปชมพิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพฯ จะเห็นผ้าปูมจำนวนมากในห้องแสดงผ้า ผมสงสัยก็มาสอบถามคนมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ของอุบลฯ เขาบอกว่า สมัยก่อนเขมรเป็นเมืองขึ้นของไทยมาจนถึงสมันรัชกาลที่ 3 เพราะ ฉะนั้นเครื่องบรรณาการทั้งหลาย เขมรก็จะเอาผ้าปูมมาถวายในหลวงของเรา หรือหากเจ้าเมืองทางอีสานมากราบลาท่าน หรือว่าท่านแต่งตั้งไปเป็นเจ้าเมืองอีสาน ท่านก็จะพระราชทานผ้าปูมให้ไปนุ่ง นอกจากเครื่องยศของเจ้าเมือง ฉะนั้น ผ้าปูมคือ การแต่งกายของผู้ชายก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 เฉพาะพวกขุนนาง พวกเจ้าขุนมูลนาย”

เรือตรี ดร. สุ นัยฯ ได้อ้างถึงภาพวาดจิตกรรมฝาผนังที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุบลฯ ในพระอุโบสถ วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งช่วงเวลาที่วาดภาพนั้นอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ที่มีการติอต่อระหว่างเมืองอุบลฯกับกรุงเทพฯมากขึ้น … จาก ภาพวาดแสดงว่า ชายชาวบ้านนุ่งผ้ายาวมาจนถึงหัวเข่า คล้ายๆกับผ้าเตี่ยวที่เรียกว่า หยักลั้ง ไม่ใส่เสื้อ มีผ้าคล้องคอ ผ้าพาดบ่า ใส่เสื้อคอกลม ส่วนขุนนางใส่เสื้อราชปะแตน มีผ้าขาวม้าคาดเอว

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มี การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองอุบลฯ เป็นที่ตั้งของมณฑลลาวกาว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอีสาน และมณฑลอุบลราชธานีตามลำดับ ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิต ปรีชากร และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ ปกครองมณฑลเหล่านี้ วัฒนธรรมการแต่งกายแบบชาววังจากกรุงเทพฯ จึงได้แพร่หลายเข้ามายังเมืองอุบลฯ  ตั้งแต่นั้นมา

“มาถึงปลายรัชกาลที่ 4 พอถึงรัชกาลที่ 5 ผมไปเจอบทความอันหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 5 ว่า เราไม่ใช่ข้าของเขมร ทำไมเราจึงต้องมานุ่งผ้าปูมของเขมร ท่านจึงโปรดเกล้าฯ ให้มานุ่งผ้าม่วงแบบโจงกระเบน ใส่ถุงเท้า ใส่เสื้อราชปะแตน ผ้าม่วงอาจเป็นผ้าปั๋งลิ้ม จากประเทศจีน หรือเป็นผ้าทอของไทย เท่าที่ผมดูจากหลักฐานสมัยนั้น ผ้าม่วงที่ส่งมาให้ชาววังมาจาก 3 แหล่งคือ จากอุบลฯ โคราช และเชียงใหม่”

 

เรือตรี ดร. สุ นัยฯ เริ่มสะสมผ้าโบราณของอุบลฯ โดยการขอจากญาติ บางผืนได้รับมรดกตกทอดจากตระกูล ผ้าอุบลฯที่เก่าแก่ที่ท่านมีอยู่ในครอบครองอายุประมาณเกือบๆร้อยปี ได้มาจากคุณป้า ปัจจุบันท่านมีผ้าสะสม 2 ประเภทคือ ผ้าอุบลฯ และผ้าลาว (จำปาศักดิ์) รวมแล้วกว่า 100 ชิ้น โดยมีผู้มาขอไปออกแสดงในงานต่างๆ รวมทั้งมาขอถ่ายภาพจำนวนมาก ผ้าเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพดี สีไม่ซีดจาง ท่านได้เล่าถึงเคล็ดลับในการรักษาว่า

“ใส่ ลังไม้สัก ปิดให้แน่น จะรักษาผ้าไว้ได้ดี ไม้สักนั้นโดยธรรมชาติจะไม่มีแมลงมากิน ส่วนสีที่ยังดูเหมือนเดิมเพราะคนโบราณจะใช้วิธีนุ่งผ้าซ้อนกัน 2 ตัว ใส่กลับมาจากงานก็เอาผึ่งลม ไม่ผึ่งแดด และจะไม่ซักเลย”

เรือตรี ดร. สุนัยฯ ได้สรุปลักษณะเฉพาะของผ้าอุบลฯว่า เป็นลายล่อง (ลายยาว) มี หัวซิ่น ตีนซิ่นสวยงาม เป็นมัดหมี่คั่นด้วยขิต สีทึมๆ ไม่ฉูดฉาด มักย้อมด้วยครั่ง ลายเล็กๆ มองแล้วจะกลืนกันไปหมด มีความละเอียดอ่อน เนื้อผ้าดี เป็นไหมแท้

ปัจจุบัน ผ้าอุบลแท้ในลักษณะดังกล่าวหาได้ยากแม้ในจังหวัดอุบลเอง ร้านคำปุ่น ยังคงอนุรักษ์การทอผ้าแบบอุบลฯไว้ ได้นำมาดัดแปลงโดยการรวมการทอผ้าชนิดต่างๆ เข้าด้วยกันจนออกมาดูสวยงาม เช่น ผ้าซิ่นทิว ที่นำเอามัดหมี่ เอาขิตมาผสมกัน เป็นต้น

เมื่อถามถึงช่างทอผ้าที่มีฝีมือในจังหวัดอุบลฯที่ยังมีอยู่ เป็นคำถามที่ทำให้ เรือตรี ดร. สุนัยฯ ต้องเว้นคำตอบไปชั่วครู่

“เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีการสืบทอดกันอย่างจริงจัง ที่เห็นว่ามีฝีมือกัน อยู่ที่อำเภอบุณฑริก”

บท สนทนาจบลงด้วยน้ำเสียงปิติภาคภูมิ เมื่อย้อนรำลึกถึงจังหวัดบ้านเกิดเมืองนอน ขณะที่สายตาบ่งบอกความชื่นชมยินดีอย่างลึกซึ้ง ทอดไปยังผ้าผืนงาม …

***  ขอบคุณบทความบางส่วนจาก หนังสือกินรี และ หนังสือ เมืองอุบล ธานีแห่งราชะ  ศรีสง่าแห่งไพรพฤกษ์

ข้อมูล ๙ ประการ